พระกริ่งในสมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ สร้าง 2484 พระกริ่งวัดช้าง หรือที่คนรุ่นเก่าเรียกว่า พระกริ่งอุดผงพระเกศา มีมูลเหตุจัดสร้างโดยดำริของอาจารย์หนู (นิรันตร์ แดงวิจิตร) ซึ่งขณะนั้นท่านได้อุปสมบทอยู่ที่วัดสุทัศน์ พื้นเพเดิมท่านเป็นคนบ้านนา จ.นครนายก ท่านเห็นว่าวัดช้างยังไม่มีสถานศึกษาให้ความรู้แก่กุลบุตร-กุลธิดา ท่านจึงประทานขอพระอนุญาตจากสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ให้ทรงเป็นประธานสร้างพระกริ่งรุ่นนี้ เพื่อหาทุนในการสร้างโรงเรียน เมื่อพ.ศ.2484 โดยมี เจ้าคุณศรี (สนธิ์) เป็นแม่งานในการจัดพิธีเททอง
สมัยอาจารย์หนูยังมีชีวิตอยู่ ได้เล่าให้ฟังว่า พระกริ่งรุ่นนี้ที่แตกต่างจากพระกริ่งรุ่นอื่นๆ ก็คือเป็นการเทหล่อแบบตัน แล้วนำมาเจาะรู 2 ชั้น ขนาดเท่าแท่งดินสอชั้นแรกและขนาดเท่าใส่ดินสอชั้นใน ซึ่งถือเป็นพระกริ่งของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์รุ่นแรก ที่เทตันแล้วนำมาเจาะรูที่ก้นภายหลัง โดยการเจาะรูชั้นในเพื่อบรรจุผงพุทธคุณ 108 พร้อมทั้งเส้นพระเกศาของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) แล้วอุดรูก่อนชั้นหนึ่ง จากนั้นบรรจุเม็ดกริ่งในรูชั้นนอกแล้วจึงอุดก้นด้วยทองชนวนเป็นสุดท้าย
พระกริ่งรุ่นนี้ประกอบพิธีเททอง ณ วัดสุทัศน์ฯ เมื่อวันเพ็ญเดือน 12 ในการฉลองพระชนมายุสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ตรงกับวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2484 หล่อพร้อมกับพระกริ่งพุทธนิมิต องค์พระกริ่งเป็นเนื้อโลหะแบบผสม ออกสีเหลืองอมแดง ผิวกลับเป็นสีน้ำตาลอ่อน พระกริ่งวัดช้างที่ใต้ฐานสังเกตดูจะเห็นว่ามีรอยการอุดที่ใต้ฐานขนาดเขื่องเท่าแท่งดินสอดำทุกองค์ เมื่อเขย่าดูเสียงกริ่งจะดังทึบๆ เนื่องจากด้านในที่บรรจุเม็ดกริ่งมีพื้นที่น้อย เพราะมีการบรรจุผงวิเศษและเส้นพระเกศาของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) เส้นจีวร องค์พระกริ่งทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีการแต่งมือตอกเป็นเม็ดไข่ปลาพระกริ่งวัดช้างเป็นพระกริ่งที่ทรงคุณค่าน่าบูชามาก มีการสร้างในครั้งนี้ 400 องค์ นำออกหาทุนที่วัดช้าง 300 องค์ ที่เหลืออีก 100 องค์ แจกที่วัดสุทัศน์จึงเป็นจำนวนการสร้างที่น้อยมาก ในการสร้างพระกริ่งวัดช้างสมัยนั้น ยังมีการสร้างพระชัยวัดช้างด้วย จำนวนการสร้าง 1,500 องค์ เป็นพิมพ์สมาธิ
เหตุผลที่ทำให้วัดช้างโด่งดังเกี่ยวกับตำนานการสร้างพระกริ่งและพระชัยด้วยเหตุผล 5 ประการคือ 1.ก้านช่อชนวนพระกริ่งรุ่นเก่าๆ ของสมเด็จพระสังฆราช(แพ)วัดสุทัศน์ทั้งหมดท่านอาจารย์หนูได้นำไปถวายพระอาจารย์ต๊ะ (พระหลานชาย) อดีตเจ้าอาวาสวัดช้าง 2.ชื่อเสียงอันโด่งดังของพระกริ่งวัดช้างซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของอาจารย์หนูปรมาจารย์การแต่งพระกริ่งไทย 3.คัมภีร์ตำราพระคาถาการจารพระยันต์ในการสร้างพระกริ่งของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) นั้น ท่านอาจารย์หนูได้นำมาคัดลอกเก็บไว้ที่วัดช้างแห่งนี้ 4.เจ้าอาวาสวัดช้างทุกรูปได้อนุรักษ์ประเพณีพิธีการสร้างพระกริ่งสืบทอดมาตลอดเป็นประจำ และ 5.เจ้าอาวาสวัดช้างทุกรูปล้วนเป็นพระเถระหรือเป็นพระเกจิอาจารย์ดังซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก
การสร้างพระกริ่งวัดช้าง เมื่อ พ.ศ.2484 ถือว่าเป็นตำนานเล่าขานมากว่า 80 ปีแล้ว ทุกวันนี้ไม่ว่าวัดช้างจะมีการสร้างพระกริ่งหรือพระชัยออกมาคราวใดก็จะเกิดกระแสเป็นตำนานการสร้างพระเครื่องของเมืองไทยอันโด่งดังให้ผู้คนแห่แหนไปรอเช่าบูชาชนิดที่เรียกว่าล้นวัดทุกครั้ง
|