พระหูยานพิมพ์ใหญ่ เนื้อชินเงิน กรุวัดพระศรีฯลพบุรี กรุใหม่
มุมวิชาการ (สารานุกรมพระ)

พระหูยาน พิมพ์ใหญ่ กรุใหม่ ถ้าพูดถึงพระพิมพ์นั่งของเมืองลพบุรีแล้วอันดับหนึ่งก็ต้องยกให้พระหูยานของเมืองลพบุรี ถ้าเป็นพระพิมพ์อันดับหนึ่งก็ต้องพระร่วงหลังลายผ้า พระหูยานต้นกำเนิดอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ แตกกรุออกมาครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ซึ่งเราเรียกว่า “พระกรุเก่า” พระที่แตกมาครั้งแรกนั้นจะมีผิวสีดำ มีปรอทขาวจับอยู่ตามซอกขององค์พระเล็กน้อย ถ้าผ่านการใช้ผิวปรอทก็จะหายไป ต่อมาก็มีแตกกรุออกมาบ้างแต่ก็ไม่มากจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ก็มีแตกกรุออกมาเป็นจำนวนมาก ที่บริเวณเจดีย์องค์เล็กหน้าองค์พระปรางค์ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งเรียกกันว่า “กรุใหม่”

มีบางท่านสันนิฐานว่าพระหูยานกรุเก่า กับพระหูยานกรุใหม่นั้นสร้างกันคนละครั้งคือ กรุเก่าสร้างก่อนกรุใหม่สร้างทีหลัง แต่กระผมคิดว่า ถ้าพระสร้างกันคนละพิมพ์นั้น พิมพ์กับตำหนิต่างๆ ของพระจะต้องแยกต่างกันไป แต่นี่พระกรุเก่ากับพระกรุใหม่เป็นพระบล็อกเดียวกันทุกอย่าง และจากสถานที่พบต่างกันอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น ก็อาจทำให้ผิวพระแตกต่างกันได้บางท่านอาจจะค้านว่า คงจะนำพิมพ์เก่ามาทำพระใหม่นั้นก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะถ้าแม่พิมพ์พระเป็นเนื้อสัมฤทธิ์เมื่อทิ้งไว้นานมันก็จะถูกสนิมกัดกินจนกร่อนเมื่อนำพระมาทำใหม่พระก็จะไม่สมบูรณ์ย่อมมีตำหนิตามที่สนิมกินแม่พิมพ์ แต่พระกรุใหม่กับมีความคมชัด เรียกว่าคมชัดกว่าพระกรุเก่าด้วยซ้ำไป แต่ถ้าแม่พิมพ์เป็นดินหรือวัสดุอื่น ก็จะมีการผุกร่อนกันตามกาลเวลา จะทำให้องค์พระคมชัดไม่ได้ ถ้าแกะบล็อกใหม่ขนาดขององค์พระ หรือตำหนิต่างๆ ก็ต้องเพี้ยนไปกว่าเดิมแน่นอน

พระหูยานที่แตกกรุออกมานั้น มีด้วยกันหลายพิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ (เรียกกันว่าพิมพ์ใหญ่หน้ายักษ์) พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์บัวสองชั้น พิมพ์รัศมีบัวสองชั้น และพิมพ์จิ๋ว แต่มีน้อยมาก ถ้าพูดถึงพุทธคุณแล้วพระหูยานนั้นโด่งดังมากในด้าน คงกระพันชาตรี ตามแบบฉบับของขอม และด้านเมตตานั้นก็ไม่เป็นรองใคร

นอกจากพระหูยาน จะพบที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุแล้วยังปรากฏว่าพบที่ วัดอินทาราม และวัดปืนด้วย แต่เป็นคนละแม่พิมพ์กัน ด้านพุทธคุณนั้นเหมือนกันทุกกรุ

อายุของพระหูยานนั้น ประมาณการสร้าง ๗๐๐ กว่าปี แต่ถ้าเป็นของกรุวัดปืนแล้ว อายุน่าจะน้อยกว่าของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ