พระพิจิตรเม็ดน้อยหน่า และพระพิจิตรเขี้ยวงู พบที่กรุเดียวกัน ที่กรุท่าฉนวน พระที่พบเป็นพระเนื้อดินเผา เนื้อพระมักเป็นสีดำสนิท ส่วนที่เป็นเนื้อออกแดงก็มีบ้างแต่เป็นส่วนน้อย เนื้อพระของกรุนี้จะละเอียดหนึกนุ่ม ในเรื่องของพิมพ์พระนั้นพระพิจิตรพิมพ์เขี้ยวงูจะพบน้อยกว่ามาก พระทั้งสองชนิดมีขนาดเท่าๆ กัน ผิดกันที่องค์พระ พระพิจิตรพิมพ์เขี้ยวงูนั้นจะมีองค์พระผอมเรียวกว่าพระพิจิตรเม็ดน้อยหน่าอย่างเห็นได้ชัด พระเศียรเรียวแหลม จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์....พระเม็ดน้อยหน่านี้ นอกจากจะพบที่จังหวัดพิจิตรแล้วก็ยังพบที่จังหวัดอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เช่น กรุทางจังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดสุโขทัย และกรุทางจังหวัดอยุธยาก็เคยพบ พระเม็ดน้อยหน่าของจังหวัดอื่นๆ มักจะพบเป็นพระเนื้อดินเผาสีออกมาทางแดงเป็นส่วนใหญ่ องค์พระก็มีพุทธลักษณะคล้ายกัน แต่จะไม่เหมือนกันนัก เนื่องจากต่างแม่พิมพ์กันพระเม็ดน้อยหน่าที่มีชื่อเสียงนั้นเริ่มมาจากของกรุท่าฉนวนของพิจิตรก่อนเป็นปฐม เมื่อพบพระที่มีพุทธลักษณะคล้ายคลึงกัน จึงเรียกว่าพระเม็ดน้อยหน่าตามๆ กันมา แต่จะมีชื่อกรุหรือจังหวัดนั้นๆ ต่อท้ายเพื่อให้รู้ว่าเป็นของกรุใด พระพิจิตรที่พบที่กรุท่าฉนวนเพียงแห่งเดียวคือพระพิจิตรพิมพ์เขี้ยวงู ซึ่งปัจจุบันหายากและหวงแหนกันมากในคนยุคเก่าๆ เนื่องจากเชื่อกันว่านอกจากจะมีพุทธคุณทางด้านอยู่ยงคงกระพันแล้ว ยังถือว่าดีทางด้านกันงูเงี้ยวเขี้ยวขออีกด้วยครับ และจำนวนพระที่มีน้อยกว่าจึงหายากมากในปัจจุบัน นานๆ จะได้พบเห็นกันสักที ส่วนมากก็จะอยู่กับคนรุ่นเก่าๆ |