พระกริ่งคลองตะเคียน เป็นพระเนื้อดินผสมผงใบลานเผา ว่านร้อยแปด และเกสรของศักดิ์สิทธิ์ กำเนิดที่บริเวณคลองตะเคียน ทั่ว ๆ ไปบริเวณวัดประดู่ พุทธลักษณะเป็นพระนั่งอยู่บนฐานสูงใต้ต้นใบโพธิ์ มีใบโพธิ์ปกคลุมเป็นร่มเงา คล้าย ๆ กับพระองค์ลำพูนนั่นเอง มียอดเป็นปลีสูง ด้านหลังจะอูมและมีอักขระยันต์จารอยู่ด้านหลัง บางองค์ก็ทำเป็นพระทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แต่ทุก ๆ องค์ต้องมีอักขระยันต์ทุกองค์ เอกลักษณ์ของพระกริ่งคลองตะเคียนทุกองค์ ก็คือ พระทุกองค์จะต้องเจาะและบรรจุเม็ดกริ่งเข้าไป เวลาเขย่าจะมีเสียงดัง
พระกริ่งคลองตะเคียน เข้าใจว่าจะเป็นพระอยุธยายุคปลาย ๆ สร้างโดย เกจิอาจารย์หรือผู้เรืองเวทในสมัยนั้น มีด้วยกันหลายพิมพ์ คือ
๑.พิมพ์หน้าใหญ่ไหล่ยก
๒.พิมพ์สองหน้า
๓.พิมพ์หน้าเล็ก
๔.พิมพ์ปิดตา
มีด้วยกัน ๓ สี คือ สีดำ สีเขียวอมเทา สีเหลืองอมเขียว
เราจะสังเกตได้ว่าพระกริ่งคลองตะเคียนทุกองค์ ลายมือในการจารยันต์อักขระจะเป็นลายมือเดียวกัน เข้าใจว่าจะเป็นผู้สร้างเดียวกัน ที่ก้นของพระกริ่งคลองตะเคียนจะเป็นรอยหยิก และจะมียันต์อักขระใต้ก้นทุกองค์ ส่วนด้านพุทธคุณนั้น พระกริ่งคลองตะเคียน ยอดเยี่ยมทางด้านแคล้วคลาดคงกระพันชาตรี โดยเฉพาะ เรื่องเขี้ยวงาถือว่าสุดยอด