รายละเอียด | การสร้างพระกริ่งและพระชัยวัฒน์อรหัง ( 6 มกราคม 2517) เมื่อคณะของ น.พ. สุพจน์ และคุณลุงแก้ว ศิริรัตน์ได้รับอนุญาตให้สร้างพระเครื่องชุดแรกขึ้นแล้ว ก็ได้รับความนิยมจากมหาชนอย่างมาก น.พ. สุพจน์ จึงขออนุญาตหลวงปู่แหวนสร้างพระกริ่ง อะระหังขึ้นอีกรุ่นหนึ่ง โดยขึ้นไปทำพิธีเททองหล่อกันที่วัดดอยแม่ปั๋ง เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2517 ปรากฏว่าพระกริ่งชุดนี้ มีผู้สั่งจองกันหมดในเวลาไม่นานนัก (ตระกูลศิริรัตน์ได้เคยสร้างพระเจ้าคุณนรฯ วัดวิเวกวนารามจนโด่งดังมาแล้ว) ในบรรดาพระเครื่องหลวงปู่แหวนที่สร้างมาทั้งหมดพระกริ่งอะระหัง จัดเป็นยอดของพระเครื่อง ทั้งนี้เพราะ
1. พระกริ่งนั้นจัดเป็นยอดของพระเครื่องทั้งปวงอยู่แล้ว เพราะมีกรรมวิธีในการสร้างมากมาย
2. เป็นพระชนิดเดียว ที่หลวงปู่แหวนลงมือเททองด้วยตนเอง(สำหรับรูปเหมือนหลวงปู่แหวนใบพัทธสีมาก็เททองที่วัดดอยแม่ปั๋ง แต่หลวงปู่สิม พุทธาจาโรเป็นผู้ถือสายสิญจน์เททองแทนเนื่องจากหลวงปู่แหวนท่านไม่ยอมเททองรูปเหมือนตัวท่าน)
3. โลหะที่นำมาหล่อหลอมเป็นองค์พระเป็นวัตถุชั้นยอด
4. มีกระบวนการสร้างถูกต้องตามตำหรับโบราณาจารย์
5. หลวงปู่แหวนแผ่เมตตาจิตปลุกเสกให้ถึง 3 ครั้ง
6. องค์พระสร้างขึ้นด้วยความสวยงามปราณีตกระทัดรัด
ส่วนกรรมวิธีในการสร้างมีดังนี้ พระกริ่งอะระหังและพระชัยวัฒน์ได้กำหนดฤกษ์เททอง เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2517 เวลา 12.15 น. ซึ่งเป็นมหามงคลแห่งฤกษ์ ประกอบด้วยมหัทธโนฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่ปราบศัตรูที่คิดร้ายให้พ่ายแพ้พินาศโดยสิ้นเชิง และเป็นฤกษ์มหานิยม อุดมด้วยโภคทรัพย์สิริมงคลทุกประการ ซึ่งเป็นการคำนวณฤกษ์ที่แม่นยำที่ตามความเป็นจริงของเหตุการณ์ที่ผ่านมา คือในระหว่างการสร้างมีผู้คัดค้านให้ร้ายอยู่ตลอดเวลาแต่ในที่สุดก็ทำอะไรไม่ได้ เมื่อเปิดสั่งจองก็มีผู้จองหมด อย่างรวดเร็ว เริ่มแรกหลวงปู่แหวนจุดเทียนชัยเมื่อเวลา 11.05 น. และหลวงปู่แหวนได้พูดว่าฤกษ์เป็นของพระพิธี และสถานที่เททองได้ประกอบพิธีอย่างถูกต้องตามตำหรับโบราณาจารย์ทุกประการมีราชวัตรฉัตรธง หลวงปู่แหวนได้แนะนำให้จัดพิธีกลางแจ้งใต้ต้นไม้ใหญ่หน้ากุฏิของท่าน ๆ บอกว่าต้นไม้นี้มีเทพศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตย์อยู่ และได้โยงสายสิญจน์ที่องค์พระประธาน ในพระวิหาร มารอบกุฏิหลวงปู่มาถึงต้นไม้ใหญ่กลางแจ้งล้อมรอบ วัสดุสิ่งของและชนวนโลหะต่าง ๆ ในพิธีเททองทั้งหมดเป็นปริมณฑล กว้างขวางมาก ได้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตร และสวดชยันโต ตลอดพิธีเททองเมื่อถึงกำหนดฤกษ์เททองเวลา 12.15 น. หลวงปู่แหวนเข้าที่นั่งปรกบริกรรมปลุกเสก และอธิษฐานจิตภาวนา ควบคุมการเททอง โดยจับสายสิญจน์เททองจนเสร็จพิธีเป็นวาระแรก หลังจากเททองเสร็จพิธีแล้ว ได้ทุบหุ่นนำพระกริ่งและพระชัยวัฒน์ที่สร้างเสร็จแล้วนี้ เข้ากระทำพิธีพุทธาภิเษกในคืนนั้นทันที โดยหลวงปู่แหวน สุจิณโณ เมตตาปลุกเสกให้ตลอดคืนเป็นวาระที่2 และเมื่อแต่งพระเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้นำพระกริ่งขึ้นไปให้หลวงปู่แหวนเสกอีกเป็นวาระที่ 3 แผ่นยันต์ที่นำมาหลอมสร้างพระกริ่งอรหังและพระชัยวัฒน์ รุ่นแรกนี้มีแผ่นทองแดง 108 แผ่น ซึ่งลงยันต์อักขระถูกต้อง ตามพิธีการสร้างพระกริ่งพระชัยวัฒน์ ของสมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ ทุกประการ และมีแผ่นยันต์ของอาจารย์ ซึ่งทรงวิทยาคมหลายท่านคือ 1. แผ่นยันต์ของหลวงปู่แหวน สุจิณโณ 108 แผ่น 2. แผ่นยันต์ของท่านเจ้าคุณนรรัตน์ฯ วัดเทพศิรินทร์ปลุกเสกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2513 3. แผ่นทองแดง ที่นำไปให้หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพลลงให้ 4. แผ่นยันต์ของหลวงพ่อผาง จิตตคุตโต วัดอุดมคงคาคีรีเขต จังหวัดขอนแก่น 5. ทองชนวนพระกริ่งสมเด็จสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ ,วัดพิกุลทอง และวัดกษัตราธิราช จากช่างสมร รัชนะธรรม 6. ทองชนวน ของท่านเจ้ามาวัดสามปลื้ม ซึ่งหลวงพ่อพระครูประสิทธิ์ซึ่งเป็นเลขา ท่านเจ้าอาวาสองค์เก่าได้กรุณามอบให้หนักหลายกิโล ซึ่งใช้เป็นเนื้อหลักในการหล่อทั้งสิ้น สำหรับจำนวนการสร้างนั้น มีดังนี้ 1. พระกริ่ง – ชัยวัฒน์ทองคำ 16 ชุด 2. พระกริ่งเนื้อนวโลหะ 2,517 องค์ 3. พระชัยวัฒน์ 1,900 องค์ ในจำนวน 2,517 องค์ ได้จัดเป็นชุดกรรมการขึ้น จำนวนหนึ่งโดยนำพระกริ่งเนื้อนวโลหะไปกะไหล่ทอง, เงิน ด้วย (ขอบคุณข้อมูลพี่บรรเจิดฯ) พระชัยวัฒน์อรหัง หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่ เป็นพระชัยวัฒน์รุ่นเดียวที่หลวงปู่แหวนฯ ได้เททองด้วยตัวของท่านเอง สร้างน้อยเพียง 1,900 องค์ |